ใช้เงินแก้ปัญหา?
“ทำไมจะทำไม่ได้ มีเงินหรือเปล่าล่ะ?” ประโยคคำถามที่สวนขึ้นมาฟังดูน่าหมั่นไส้ ในที่ประชุมแห่งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งประโยคนั้นผู้พูดจงใจพูดโยนมาใส่ผมตรง ๆ
ได้ยินแล้วทำให้เกิดทัศนคติต่อเงินในมุมหนึ่งว่า เอะอะก็ใช้เงินนั้นมันดูไม่เข้าท่าเลย นี่มันสะท้อนความเหลื่อมล้ำชัดเจน และเงินมันแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องงั้นหรือ?
“คุณมีเงินหรือเปล่าล่ะ? เอามาสิ เดี๋ยวผมทำให้ดู” เขายังคงพูด และใช้ประโยคที่ทำให้ผมรู้สึกถูกกวนโมโห แม้ตอนนั้นผมจะอายุไม่มาก แต่ยังคุมอารมณ์ได้ดี หรืออาจเพราะเขาอาวุโสกว่ามากก็ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ถือว่าโชคดีที่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากนั้นเขาก็พูดต่อจนผมเริ่มเข้าใจได้ว่า ผู้ใหญ่ท่านนั้นไม่ได้กำลังกวน แต่อยากให้ผมเปลี่ยนทัศนคติ ก็โชคดีที่ผมผ่านท่าทีของเขามาได้ จนได้แง่คิดบางอย่างมาจนทุกวันนี้…
การใช้เงินแก้ปัญหา
ในช่วงการสนทนาตอนนั้น ขณะที่ผมกำลังขมวดคิ้ว ประโยคต่อ ๆ มา ก็ยังคงเป็นคำถามเชิงว่า “จริงไหม?” ถ้ามีเงิน มันทำเรื่องนั้นได้ พอที่จะแก้ปัญหาได้ พอมีหลายคำถามเข้า จึงทำให้ผมได้ทบทวนว่า ก็จริงนะ ถ้ามีเงินมันแก้ปัญหาเหล่านั้น ด้วยการจัดซื้อ จัดจ้างต่าง ๆ เพียงแต่จะคุ้มหรือไม่ ก็ค่อยว่ากัน
เพราะถ้าที่จริงเงินมันแก้ได้ สิ่งแรกที่เราควรเลิกพูดคือ “เป็นไปไม่ได้” หรือ “ทำไม่ได้” ที่มันปิดตายการพยายามคิดแก้ปัญหาของเรานั่นเอง
แน่นอนว่าการใช้เงินอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด หรือมันคุ้มค่าไปทุกเรื่องเพราะบางเรื่องแก้ได้แต่อาจต้องจ่ายแพงมาก ประเด็นก็คือ หากเรามีทัศนคติแบบตัดเงินออกจากกระบวนการเลยเพียงเพราะเราคิดแบบ “คนไม่มีเงิน” เราจะขาดมุมมอง วิธีการบางอย่างไป…
ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น สมมติเราเป็นเพียงนักศึกษาที่ไม่มีรายได้ และบ้านไม่รวย ต้องทำโปรเจคบางอย่างส่งอาจารย์ ไอเดียที่คิดได้มีองค์ประกอบส่วนหนึ่งต้องใช้รูปถ่ายว่าคุณขับรถสปอร์ตราคาแพง สิ่งแรกที่ชัดเราคงไม่มีเงินซื้อรถสปอร์ต ต่อให้ซื้อได้ เพียงแค่เอามาถ่ายรูปคงไม่คุ้มค่ามหาศาล
ทางเลือกต่อมาก็ต้องเป็นเช่า.. แต่ฐานะอย่างเรา เช่าก็ถือว่าแพงเกินไปอยู่ดี เช่นนี้ความเป็นไปไม่ได้ หรือไม่ทำก็จะเริ่มเกิดขึ้น
ซึ่ง ณ ช่วงเวลานี้ที่เราอ่านอยู่ เราอาจมีทัศนคติบนความ “เป็นไปได้” (เพราะไม่ใช่ปัญหาของเราจริง ๆ) เราก็จะคิดได้ว่าใช้วิธีนั้น วิธีนี้สิ แต่ในความเป็นจริงหลาย ๆ ครั้งพอเรามองว่า “ไม่มีเงิน” เราก็อาจ “เลิกล้ม” ความคิดที่จะทำอะไรตรงนั้นไปทันที กรณีนี้ก็จะเป็น ไม่ถ่ายกับรถสปอร์ตแล้วก็ได้…
เงินแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าไม่มีเงิน…
ในหลายเรื่องปัจจัยอาจซับซ้อนหรือมี “กระบวนการ” มากกว่าตัวอย่างง่าย ๆ ที่ผมยกไป ถ้าหากเราลองคิด “แบบมีเงิน” ดูก่อน ในทำนองว่า ถ้ามีจะ ซื้อสิ่งนั้น จะจ้างคนมาทำตรงนี้ ให้เห็นภาพของความเป็นไปได้ว่า ต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะสำเร็จในเรื่องนั้นก่อน ทีนี้เมื่อเงินไม่พอ หรือไม่คุ้ม ก็ค่อย ๆ ตัดทีละส่วนออก บางอย่างเช่าแทนซื้อ บางอย่างยืมแทนเช่า หรือแทนที่จะจ้างคนก็ขอแรงเพื่อน แรงญาติ แก้ทีละปมปัญหา หลายเรื่องมันก็พอเป็นไปได้
เพราะเชื่อว่าถ้าเรามีทัศนคติบนความเป็นไปได้ก่อน ความคิดก็จะหลั่งไหลมาเรื่อย ๆ ไม่ยากเลย เหมือนการไม่มีเงินเช่ารถสปอร์ต บางคนก็เริ่มคิดได้ว่าตัดต่อรูปถ่ายเอา ถ้าตัดต่อไม่เป็นหรือกลัวไม่สมจริง ก็จ้างเขา น่าจะถูกกว่าเช่ารถ แล้วถ้าการจ้างคนตัดต่อให้สมจริงก็ยังแพงไป (เงินอีกแล้ว) ทางออกก็อาจใช้ความเป็นนักศึกษาขอความอนุเคราะห์โชว์รูมดีไหม ไปขอทำงานกับคนที่เขาให้เช่ารถไว้ถ่ายภาพเพื่อแลกช่วงเวลาแอบถ่ายสักหน่อยก็ได้ไหม..
ที่คิดออกได้เพราะเราลองคิดบนแนวทางที่เป็นไปได้ แต่ที่สุดแล้วหากเรื่องนั้นมันต้องใช้เงินอย่างเดียวจริง ๆ อย่างน้อยก็รู้ว่าต้องเก็บเงินอีกเท่าไหร่ถึงเรื่องนี้จึงจะสำเร็จ รวมถึงหาวิธีที่ใช้เงินน้อยที่สุดมาแล้ว แต่ไม่ใช่ว่า “ทำไม่ได้” หรือ “เป็นไปไม่ได้”
หลายคนอ่านถึงตรงนี้ก็อาจคิดว่า ก็ใช่สิ ถ้าเรามีไอเดีย มีความคิดก็แก้ปัญหาได้อยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้มองผิวเผินไม่เชื่อมโยงก็ย่อมเป็นเช่นนั้น แต่ ณ มุมหนึ่ง หลายคนก็ใช่ว่าจะคิดอะไรแบบ “แตกย่อยปัญหาเป็น” หรือ อยู่บนภาวะ “ท้อถอย” เห็นปัญหาก็อยากสรุป จบ หนี ทัศนคติหรือกระบวนการคิดเหล่านี้จึงสำคัญ ซึ่งแม้แต่เราเองหากกำลังเผชิญปัญหานั้น ๆ และภาวะที่ขัดสนการเงินเราก็อาจไม่อยากคิด ไม่มีอารมณ์มาคิดไอเดียสร้างสรรค์เหล่านั้นเลยก็ได้
เงินแก้ทุกปัญหาไม่ได้ แต่…
ที่จริงบทความนี้ไม่ได้พูดถึงการใช้เงินแก้ปัญหาจริง ๆ แต่ต้องยอมรับว่าถ้าลองคิดเล่น ๆ เงินมันแก้ปัญหาได้มากถ้ามีพอ แต่หากถามว่าแล้วเงินมันฟาดหัวใครก็ได้งั้นหรือ? ตอบไม่ต้องคิด มันไม่ได้อยู่แล้ว แต่จากที่เขียนมา บางทีการไม่มีเงินนี่แหละมันกำลังฟาดหัวเราอยู่ ให้มีทัศนคติเบี่ยงเบน แม้จะเถียงไม่ได้ว่า ทุนนิยมมันได้เปรียบบนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง แต่ถ้าเอะอะไม่มีเงินก็คิดว่าทำอะไรไม่ได้ ก็เลยไม่ทำ อันนี้มันก็ต้องตรองดูดี ๆ ขนาดไม่มีเงินเรายังถูก “เงิน” กดหัวได้ แล้วทำไมมีเงินจะแก้ปัญหาไม่ได้…
ปล.เป็นเรื่องแปลก แต่ผมจำไม่ได้ชัดเจนว่าเรื่องราวตอนต้นเกิดขึ้นที่ไหนกับใครบ้าง เหตุการณ์จำได้ลาง ๆ เพียงว่าเป็นการประชุมงานบางอย่าง และผู้พูดอาวุโสกว่าทั้งอายุและสถานะตอนนั้น (ซึ่งผมทำงานในบรรยากาศแบบนี้บ่อยครั้ง) ซึ่งยอมรับว่าครั้งแรกที่ได้ยินประโยคนั้นในท่าทีบางอย่างก็ตกใจปนหงุดหงิดไม่น้อย แต่สุดท้ายเรื่องในที่ประชุมมันก็มีทางออกที่ดีจริง ๆ เมื่อเปลี่ยนความคิดไปในมุมที่ “เป็นไปได้” ก่อน
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 03/06/2021