หลายคนกักตัวอยู่บ้านหรือทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) อาจมีอาการเนือยนิ่งซ่อนอยู่ ซึ่งอาการเนือยนิ่งหรือพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ การนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่กับที่เป็นเวลานาน ซึ่งหากทำพฤติกรรมนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานติดต่อกันเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อครั้ง จะส่งผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ เช่น การไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นโรคหัวใจเเละหลอดเลือด เบาหวาน เเละอ้วนลงพุงในระยะยาวได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเสี่ยงในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้ ควรลดการเนือยนิ่งด้วย 3 แนวทาง ดังนี้
1. ทุก 50 นาที ควรขยับร่างกาย
ขยับในที่นี้ เช่น การเดินไปเดินมาภายในบ้าน การออกกำลังกาย หรือการบริหารร่างกายให้ยืดหยุ่นพอประมาณ การขยับร่างกายนี้ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัวเเล้ว ยังช่วยให้สมองกลับมาคิดและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
2. ใช้เวลา 7 -10 นาทีเคลื่อนไหวแบบออกแรง
การเคลื่อนไหวเเบบออกแแรงในที่นี้ เป็นการทำกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงระดับหนัก นั่นคือ ออกแรงให้เหนื่อยเเต่ยังพูดได้ กับออกแรงให้เหนื่อยจนพูดไม่ได้นั่นเอง กิจกรมมทางกายที่แนะนำ เช่น เดินย่ำอยู่กับที่เเละค่อย ๆ เพิ่มความเร็วขึ้น เดินเร็วรอบบริเวณบ้าน หากมีอุปกรณ์เสริมอย่างเชือกกระโดด และยางยืดออกกำลังกาย ก็ช่วยให้ออกเเรงที่บ้านได้ง่ายเช่นเดียวกัน เพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงานของกล้ามเนื้อ
3. ทุก 50 นาที พักการใช้หน้าจอ
การใช้หน้าจออย่างโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เเท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ จัดเป็นพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งสำหรับผู้ใหญ่อาจไม่มีข้อห้ามในเรื่องจำนวนเวลาการใช้ในเเต่ละวันที่ตายตัว เเต่ก็ควรพักและตัดพฤติกรรมการใช้หน้าจอทุก ๆ 50 นาที เพื่อตัดพฤติกรรมเนือยนิ่งที่อาจเกิดขึ้น
ขอบคุณที่มา : ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK)
|