บทคัดย่อ :
ชื่อเรื่อง การพัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3R โดยการใช้แบบฝึกทักษะของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ชื่อผู้วิจัย นางจิตตรา พิกุลทอง
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียน บรบือวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26
ปีการศึกษา 2553
บทคัดย่อ
การอ่านอย่างมีวิจารณญาณเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นต่อนักเรียนมาก ทั้งนี้เพราะการอ่านทำให้ผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ และจดจำเรื่องราวได้ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การวิจัยในครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3R โดยการใช้แบบฝึกทักษะของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3R 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ระหว่างคะแนนก่อนเรียนและคะแนนหลังเรียน การอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3Rโดยการใช้ แบบฝึกทักษะของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการพัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธีSQ3R โดยการใช้แบบฝึกทักษะของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 /2 โรงเรียนบรบือวิทยาคาร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 จำนวน 45 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3R ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 จำนวน 7 แผน แผนละ 2 ชั่วโมง รวม 14 ชั่วโมง 2) แบบฝึกทักษะ การอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3R จำนวน 7 เล่ม 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการพัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3Rโดยการใช้แบบฝึกทักษะ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 20 ข้อ
ผลการวิจัย ปรากฏ ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของการพัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3R โดยการใช้แบบฝึกทักษะของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.65/ 81.28
2. ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3R มีค่าเท่ากับ 0.5489 แสดงว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความก้าวหน้าทางการเรียน ร้อยละ 54.89
3. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3Rโดยการใช้ แบบฝึกทักษะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจต่อการพัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3R โดยการใช้แบบฝึกทักษะ มีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.52 อยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป การพัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการอ่านวิธี SQ3R โดยการ ใช้แบบฝึกทักษะ ช่วยทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เป็นอย่างดี ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ จึงควรสนับสนุนให้ครูภาษาไทยนำวิธีการสอนอ่านแบบ SQ3R ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการอ่าน จะช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะการอ่าน และส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
|